รู้จักแล็ปเพาะยุง “Mahidol Vivax” หนึ่งฮีโร่ช่วยต่อสู้โรคมาลาเรีย

วันที่ 5 มีนาคม 2564

รู้จักแล็ปเพาะยุง “Mahidol Vivax” หนึ่งฮีโร่ช่วยต่อสู้โรคมาลาเรีย

มาลาเรีย (Malaria) เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แถมบางเคสติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการอีก (asymptomatic) มาลาเรียจึงถือเป็นความท้าทายของการแพทย์ทั่วโลก รวมถึง ประเทศไทยที่ตอนนี้ก็มีการต่อสู้กับมาลาเรียเช่นกัน (โดยเฉพาะในเขตชายแดน)

โดยหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนการต่อสู้กับมาลาเรียในประเทศไทย คือ หน่วยวิจัยมหิดลไวแวก (Mahidol Vivax Research Unit - MVRU) ของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในสมาชิกย่าน YMID ของเรานั้นเอง ซึ่งหน่วยวิจัยแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องโรคมาลาเรียโดยเฉพาะสายพันธุ์ Plasmodium vivax (P.vivax) ที่พบมากที่สุดในประเทศไทย และบอกเลยว่างานที่นี่จะครอบคลุมมาลาเรียในหลายส่วน     

โดยหน่วยวิจัยแห่งนี้จะทำงานครอบคลุมตั้งแต่ 1.การศึกษาการติดเชื้อมาลาเรียในประเทศไทย (Malaria Infection Study Thailand) 2.การวินิจฉัยโรคมาลาเรีย (Malaria Diagnosis) 3.การแพร่เชื้อมาลาเรีย (Malaria Tranmission) 4.ชีววิทยาของ P.vivax  (Plasmodium vivax Biology) 5.การพัฒนายาและวัคซีน (Drug & Vaccine Development) และ 6.ระบาดวิทยาของมาลาเรีย (Malaria Epidemiology) รวมถึงการศึกษาเรื่องโรค glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD) เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาต้านมาลาเรีย 8-aminoquinoline ด้วย 

สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ในหน่วยวิจัย คือ แล็บเพาะพันธุ์ยุงก้นปล่องที่มีการบริหารจัดการโดยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมมีอุปกรณ์ในการทำแล็บที่ทันสมัย รองรับการผลิตยุงก้นปล่องสายพันธ์ุ  An. dirus และ An. minimus (ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สามารถติดเชื้อมาลาเรียได้ดี) 40,000 ตัวต่อสัปดาห์ และผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนที่ประจำอยู่ในแล็บก็มีความรู้ความสามารถและสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว โดยแต่ละคนสามารถผ่าต่อมน้ำลายของยุงก้นปล่องได้อย่างรวดเร็วที่ 150 - 200 ชิ้นต่อชั่วโมง 

ยุงนำโรคมาลาเรียที่ผลิตจากทางแล็บยังได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งทางหน่วยวิจัยมีการส่งยุงไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการยุงเพื่อการวิจัยมาลาเรีย ทั้งในและต่างประเทศ 

ส่วนในด้านการวิเคราะห์โรคมาลาเรีย ทาง MVRU ก็ได้มีการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ระดับชีวโมเลกุลเพื่อตรวจสอบมาลาเรีย และการตรวจสอบแกมีโตไซต์ที่ได้มาตรฐาน ได้แก่ genus- และ species-specific qPCR, qRT-PCR, nested-PCR, และ LAMP และมีผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องจุลทรรศน์ประจำการอยู่ในแล็บด้วย เพื่อทำหน้าที่ดูแผ่นฟิลม์เลือด

ก็ถือว่าเป็นห้องแล็บเพาะยุงที่มีความปลอดภัย ทันสมัย และมีคุณภาพ และสำหรับนักวิจัย YMID ท่านใดที่ต้องการยุงนำโรคมาลาเรีย ไม่ว่าจะสายพันธ์ุ  An. dirus, An. minimus หรือ สายพันธ์อื่น ๆ ก็สามารถติดต่อกับ MVRU ได้     

นอกจากนี้ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีห้องแล็บอื่น ๆ ที่เปิดให้ทุกคนสามารถไปยืมใช้อุปกรณ์ได้เช่นกัน ได้แก่  ห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโรคเขตร้อน (Tropical Medicine Diagnostic Reference laboratory - TMDR) สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัส เช่น SARS-CoV-2, ไข้เลือดออกเด็งกี ด้วยวิธีการ Real time RT-PCR และการตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgG IgM และ IgA ด้วยวิธีการ ELISA และห้องกัลยาณิวัฒนาวรานุสรณ์ (BSL3) สำหรับการวิจัยโรคชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ ที่มีการติดต่อทางลมหายใจ มีความร้ายแรง และสามารถติดต่อในคนได้