รู้จักนโยบาย “การบริหารจัดการแบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพ ” (Health Resource Sharing)ในย่านYMID เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ปลอดภัย เกิดประโยชน์สูงสุด
วันที่ 18 พฤษภาคม 2565
รู้จักนโยบาย “การบริหารจัดการแบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพ ” (Health Resource Sharing)ในย่านYMID เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ปลอดภัย เกิดประโยชน์สูงสุด
ข่าวดีสำหรับชาว YMID เมื่อโรงพยาบาลของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีมีนโยบาย การบริหารจัดการแบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพ (Health Resource Sharing) ซึ่งเป็นนโยบายที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ใช้บริการในย่าน YMID ที่มีสิทธิบัตรทอง
โดยที่หลังจากมีการใช้นโยบายนี้แล้ว จะเกิดการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ การเชื่อมโยงฐานข้อมูล และการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี อาทิ เตียงสำหรับผู้ป่วย เครื่องมือแพทย์ราคาแพง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งบอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบตัวนโยบายแล้ว และจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการบริหารการแบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีขึ้นมาทำหน้าที่จัดทำแผนแนวทางปฏิบัติในการดูแลและส่งต่อผู้ป่วยในกลุ่มโรคต่างๆต่อไป
YMID นับเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสงฆ์ สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล
โรงพยาบาลภายในย่าน จะให้บริการผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และโรคหัวใจขาดเลือด โดยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ได้นำร่องปรับใช้นโยบายในบางโรคแล้วเช่น ผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบที่ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดจะมีเตียงรองรับการรักษาเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมแล้ว ส่วนโรคอื่นอยู่ในช่วงปรับเกณฑ์การบริการและจะนำนโยบายนี้มาใช้ต่อไป
โดยทาง สปสช. จะมีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการ เพื่อสนับสนุนการจัดระบบบริการสาธารณสุขย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี โดยโรงพยาบาลที่ให้บริการผ่าตัดจะได้รับค่าบริการผู้ป่วยนอกและตามระบบ Fee Schedule ตามการวินิจฉัยและการผ่าตัด ส่วน รพ.ที่รับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดจะได้ค่าบริการตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) กล่าวคือ แม้จะรับบริการจากโรงพยาบาลสองแห่ง แต่ค่าบริการก็เท่ากับรักษาในโรงพยาบาลแห่งเดียว
เรียกได้ว่า เป็นนโยบายพิเศษที่ช่วยลดเวลาการรอการรักษาให้มีคาวมรวดเร็วมากขึ้น และสร้างประโยชน์ได้อย่างสูงสุดให้กับประชาชนและสถานพยาบาล หากใครมีสิทธิบัตรทองก็สามารถไปรับบริการนี้กันได้